สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ร่วงลงกว่า 1% หลุดระดับ 38 ดอลลาร์ในวันนี้ ท่ามกลางความวิตกที่ว่าการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในจีนจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน
ณ เวลา 19.58 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 40 เซนต์ หรือ 1.04% สู่ระดับ 37.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
สายการบินจีนหลายแห่งได้ระงับเที่ยวบินเข้าและออกจากกรุงปักกิ่ง หลังจากที่กรุงปักกิ่งเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ โดยมีผู้ติดเชื้อกว่าร้อยรายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เที่ยวบินที่ถูกยกเลิกมีกว่า 1,200 เที่ยวบิน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของเที่ยวบินทั้งหมด
กรุงปักกิ่งประกาศยกระดับเตือนภัยฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากระดับ 3 สู่ระดับ 2 เมื่อวานนี้ พร้อมประกาศว่า ประชาชนทุกคนที่จะเดินทางออกจากกรุงปักกิ่ง จะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลสหรัฐ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมทั้งการค้นพบยาสเตียรอยด์ในการรักษาชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19
ทางด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้
ทั้งนี้ IEA คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันจะอยู่ที่ระดับ 91.7 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรล/วันเมื่อเทียบกับการประเมินในเดือนพ.ค. ขณะที่ได้แรงหนุนจากการบริโภคน้ำมันที่มากเกินคาดในช่วงที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์
อย่างไรก็ดี IEA เตือนว่า การทรุดตัวของอุตสาหกรรมการบินอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บ่งชี้ว่า อุปสงค์น้ำมันจะยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนช่วงเกิดการแพร่ระบาด จนกว่าจะถึงปี 2565
คณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะจัดการประชุมในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือสถานการณ์ล่าสุดของตลาดน้ำมันโลก
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวระบุว่า JMMC จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่โอเปกพลัส แต่การตัดสินใจปรับเปลี่ยนปริมาณการผลิตน้ำมันจะขึ้นอยู่กับการประชุมของโอเปกพลัส ซึ่งบ่งชี้ว่าการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหม่จะยังไม่เกิดขึ้นในระยะนี้ หลังจากที่โอเปกพลัสบรรลุข้อตกลงในการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วันออกไปจนถึงเดือนก.ค. จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ JMMC ซึ่งประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย อิรัก แอลจีเรีย คูเวต เวเนซุเอลา ไนจีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคาซัคสถาน จะจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทุกเดือนจนถึงสิ้นปีนี้