สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 4% ในวันนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยสต็อกน้ำมันสหรัฐที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งความวิตกที่ว่าการแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง
ณ เวลา 22.08 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนส.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 1.87 ดอลลาร์ หรือ 4.63% สู่ระดับ 38.50 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน โดยปรับตัวขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าลดลง 100,000 บาร์เรล
สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 249,000 บาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล
Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 9,380,140 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 480,375 ราย ขณะที่สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ย 7 วันของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก
IMF เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ในวันนี้ โดยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า พร้อมกับเตือนว่าสถานะทางการคลังของรัฐบาลประเทศต่างๆจะทรุดตัวลงอย่างหนัก ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการทุ่มงบประมาณเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
IMF ระบุว่า วิกฤตการณ์ในปีนี้แตกต่างจากวิกฤตการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และสร้างความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
รายงานระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการฟื้นตัวจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
IMF ยังระบุว่า ธนาคารกลางและรัฐบาลต่างๆ ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการสนับสนุนการจ้างงานและภาคธุรกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.9% ในปีนี้ ซึ่งย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะหดตัวลง 3%
นอกจากนี้ IMF ยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าสู่ระดับ 5.4% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะขยายตัว 5.8%
ขณะเดียวกัน IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 8.0% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 5.9% ก่อนที่จะมีการขยายตัว 4.5% ในปีหน้า