สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 5% เมื่อคืนนี้ (24 มิ.ย.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดครั้งใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐจะกระทบต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 2.36 ดอลลาร์ หรือ 5.9% ปิดที่ 38.01 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 2.32 ดอลลาร์ หรือ 5.4% ปิดที่ 40.31 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 19 มิ.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 สัปดาห์ และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลล์สำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล แพลทส์คาดการณ์ว่าจะลดลง 100,000 บาร์เรล
รายงานของ EIA ยังระบุว่า สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 249,000 บาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล
ทางด้านสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 19 มิ.ย.
นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงเนื่องจากความกังวลที่ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอาจทำให้รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2,424,493 ราย และมีผู้เสียชีวิต 123,476 ราย โดยขณะนี้สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก พร้อมกับเตือนว่าสถานะทางการคลังของรัฐบาลประเทศต่างๆจะทรุดตัวลงอย่างหนัก จากผลกระทบที่รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.9% ในปีนี้ ซึ่งย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะหดตัวลง 3% นอกจากนี้ IMF ยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าสู่ระดับ 5.4% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือนเม.ย.ว่าจะขยายตัว 5.8%