สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) ขานรับสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ร่วงลงกว่า 7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 55 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 39.82 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 76 เซนต์ หรือ 1.8% ปิดที่ 42.03 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลอดไตรมาส 2 ปีนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นราว 92% ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นราว 81%
สัญญาน้ำมันดิบปิดตลาดในแดนบวกเมื่อคืนนี้ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐร่วงลง 7.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล
ทางด้านสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 8.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย.
รายงานของ EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 600,000 บาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรล
นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.369 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะเดียวกัน ADP ได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนพ.ค. โดยรายงานว่ามีการจ้างงานพุ่งขึ้น 3.065 ล้านตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่า การจ้างงานลดลง 2.76 ล้านตำแหน่ง
ทางด้านผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 52.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว จากระดับ 43.1 ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.5
ทั้งนี้ ข้อมูลของ ISM สอดคล้องกับที่ไอเอชเอส มาร์กิต รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 39.8 ในเดือนพ.ค.