สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 2% หลุดระดับ 40 ดอลลาร์ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการเปิดเผยสต็อกน้ำมันสหรัฐที่เพิ่มขึ้นเกินคาดของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API)
ณ เวลา 20.30 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 94 เซนต์ หรือ 2.31% สู่ระดับ 39.73 ดอลลาร์/บาร์เรล
API ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 951,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
นักลงทุนจับตาตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันนี้ เพื่อยืนยันตัวเลขของ API
ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ ระบุว่า เขาจะลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายฉบับ ซึ่งจะเยียวยาประชาชนและบางภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากที่ก่อนหน้านี้เขาได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระงับการเจรจากับพรรคเดโมแครตเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ จนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์เรียกร้องให้สภาคองเกรสให้การอนุมัติมาตรการต่างๆที่เขาจะลงนาม ซึ่งได้แก่ การแจกเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันคนละ 1,200 ดอลลาร์ รวมทั้งการอัดฉีดวงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน และวงเงิน 1.35 แสนล้านดอลลาร์สำหรับธุรกิจรายย่อย การตัดสินใจดังกล่าวของปธน.ทรัมป์มีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาเรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากสหรัฐยังคงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น มิฉะนั้นส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน นอกจากนี้ การตัดสินใจของปธน.ทรัมป์ยังเกิดขึ้น ท่ามกลางการเจรจาที่ชะงักงันระหว่างนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เกี่ยวกับวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยพรรคเดโมแครตเสนอวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ทำเนียบขาวเสนอวงเงิน 1.6 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการผละงานประท้วงของพนักงานในบริษัท Equinor ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันของนอร์เวย์ และการเกิดพายุเฮอร์ริเคนในอ่าวเม็กซิโก
มีการคาดการณ์กันว่าการประท้วงของพนักงานในบริษัท Equinor จะส่งผลให้การผลิตน้ำมันของนอร์เวย์ลดลง 330,000 บาร์เรล/วัน หรือราว 8% ของการผลิตน้ำมันทั้งหมด
ทางด้านบริษัทเชฟรอนได้เริ่มอพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ก่อนการพัดถล่มของพายุเฮอร์ริเคนเดลต้าในวันพฤหัสบดีนี้