สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 3% หลุดระดับ 38 ดอลลาร์ในวันนี้ จากความวิตกที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในยุโรปจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ณ เวลา 19.08 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 1.25 ดอลลาร์ หรือ 3.22% สู่ระดับ 37.54 ดอลลาร์/บาร์เรล
ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 49 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 1.2 ล้านราย โดยสหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต ขณะที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 9.9 ล้านราย และเสียชีวิตกว่า 240,000 ราย
หลายประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ต่างประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังพบว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วยุโรปพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อังกฤษมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงที่สุดในยุโรป และมีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 20,000 รายในแต่ละวัน ขณะที่เบลเยียมมีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อประชากรสูงที่สุดในยุโรป
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากการที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส มีแนวโน้มชะลอแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรล/วัน
โอเปกพลัสจะจัดการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.เพื่อกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ โอเปกพลัสมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.2564
ทั้งนี้ โอเปกพลัสตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิต 7.7 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2563 ก่อนที่จะลดกำลังการผลิตเพียง 5.8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล/วันจากโอเปกพลัสไหลเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก
นักวิเคราะห์จาก Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์ว่า โอเปกพลัสมีแนวโน้มที่จะเลื่อนแผนการเพิ่มกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันออกไป เนื่องจากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในยุโรปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19