สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวลงในวันนี้ ท่ามกลางความวิตกที่ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการใช้มาตรการล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำมัน ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
ณ เวลา 23.14 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 27 เซนต์ หรือ 0.65% สู่ระดับ 41.55 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 11.8 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 256,000 ราย
ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี แถลงว่า ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นสุดท้ายบ่งชี้ว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งทั้งสองบริษัทพัฒนาร่วมกัน มีประสิทธิภาพ 95% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19
ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ทางบริษัทจะยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนดังกล่าวต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในอีกไม่กี่วัน ขณะที่บริษัทคาดว่าจะผลิตวัคซีนจำนวน 50 ล้านโดสในปีนี้ และ 1,300 ล้านโดสในปีหน้า
ก่อนหน้านี้ บริษัทโมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐ แถลงว่า ผลการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในเฟสที่ 3 พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 94.5% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19
ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะชะลอแผนการเพิ่มการผลิตน้ำมัน
โอเปกพลัสตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิต 7.7 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2563 ก่อนที่จะลดกำลังการผลิตเพียง 5.8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล/วันจากโอเปกพลัสไหลเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก
แหล่งข่าวระบุว่า โอเปกพลัสมีแนวโน้มที่จะเลื่อนแผนการเพิ่มกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันออกไป 3-6 เดือน เนื่องจากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในยุโรปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะฉุดอุปสงค์น้ำมันในตลาด
โอเปกพลัสจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.