สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (4 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับการคาดการณ์ที่ว่า สหรัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในเร็วๆ นี้ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 62 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 46.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 54 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 49.25 ดอลลาร์/บาร์เรล
ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้น 1.6% และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้น 2.1% โดยทั้งสองสัญญาปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกันแล้ว
ตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า สหรัฐจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน หลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 245,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 440,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าระดับ 610,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 6.7% ในเดือนพ.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากแตะระดับ 6.9% ในเดือนต.ค.
นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐกล่าวว่า ข้อมูลการจ้างงานที่ชะลอตัวบ่งชี้ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกำลังหยุดชะงัก และเตือนว่าสหรัฐจะเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้นในฤดูหนาวนี้ หากสภาคองเกรสไม่เร่งอนุมัติกฎหมายเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคโควิด-19
นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ซบเซาเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า สภาคองเกรสจำเป็นต้องเร่งพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ยังคงดำเนินนโยบายลดการผลิตน้ำมันลงต่อไปแม้ว่าจะปรับลดในปริมาณที่ลดลงก็ตาม
ทั้งนี้ ที่ประชุมโอเปกพลัสเมื่อวันพฤหัสบดีมีมติปรับลดกำลังการผลิต 7.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้มีน้ำมันดิบไหลเข้าสู่ตลาดโลกเพียง 500,000 บาร์เรล/วัน โดยมติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนม.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป