สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (25 ก.พ.) ที่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในรัฐเท็กซัสได้เริ่มกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันอีกครั้งหลังจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลงจากความวิตกว่า การปรับตัวขึ้นของราคานาน 4 เดือนนั้น จะกระตุ้นให้ผู้ผลิตเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 63.53 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 16 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 66.88 ดอลลาร์/บาร์เรล
ในการซื้อขายช่วงเช้านั้น สัญญาน้ำมันดิบ WTI และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดของวันนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 โดยได้แรงหนุนจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำต่อไป และจากการที่ผลผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐร่วงลงอย่างรุนแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากผลกระทบของพายุฤดูหนาวในรัฐเท็กซัส
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในรัฐเท็กซัสได้เริ่มกลับมาทำการผลิตน้ำมันอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัด
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ของสหรัฐเปิดเผยว่า อากาศที่หนาวจัดทำให้การผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐร่วงลงมากกว่า 10% หรือมากเป็นประวัติการณ์ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการกลั่นน้ำมันร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551
บรรดานักลงทุนจะจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร อาทิ รัสเซีย หรือกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 4 มี.ค.นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า 75% แล้วในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา อาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตสหรัฐเพิ่มการผลิต และเร่งให้กลุ่มโอเปกพลัสผ่อนคลายนโยบายการปรับลดการผลิต
แหล่งข่าวระบุว่า กลุ่มโอเปกพลัสจะหารือกันเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมปริมาณน้ำมันนับตั้งแต่เดือนเม.ย.เป็นต้นไป เมื่อพิจารณาจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ การที่ซาอุดีอาระเบียสมัครใจปรับลดการผลิตน้ำมันในเดือนก.พ.และมี.ค.นั้น ได้ทำให้ปริมาณน้ำมันทั่วโลกตึงตัว และช่วยหนุนราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานเฟดระบุว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน และทำให้นักลงทุนมีความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น อาทิ ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และตลาดหุ้นด้วย