สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% เมื่อคืนนี้ (19 พ.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงในเอเชีย รวมทั้งรายงานที่ว่า อิหร่านอาจกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 2.13 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 63.36 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2564
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 2.05 ดอลลาร์ หรือ 3% ปิดที่ 66.66 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล
รายงานของ EIA ยังระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลงเพียง 100,000 บาร์เรล
ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า อิหร่านอาจกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง หลังสื่อรายงานว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐและอิหร่านเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยสหรัฐและอิหร่านได้เจรจาทางอ้อมที่กรุงเวียนนาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ถอนตัวก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเอเชีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ โดยสิงคโปร์รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายเดือน ขณะที่ไต้หวันเปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ทั้งสองประเทศประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาด
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ยอดขายน้ำมันเบนซินและดีเซลของโรงกลั่นในอินเดียดิ่งลง 20% ในช่วงครึ่งเดือนแรกนี้ เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว หลังการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งได้กระทบการบริโภคน้ำมันในอินเดีย