สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (20 พ.ค.) โดยสัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ท่ามกลางความกังวลที่ว่า อิหร่านอาจกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง เนื่องจากการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับสหรัฐที่มีความคืบหน้าและอาจทำให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.31 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 62.05 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2564
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.55 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 65.11 ดอลลาร์/บาร์เรล
ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันได้รับแรงกดดันหลังจากสื่อต่างประเทศรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐและอิหร่านเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยเจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรป (EU) สหรัฐ และอิหร่านได้เจรจากันเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ถอนตัวก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่ EU กล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นว่าการเจรจาจะบรรลุข้อตกลง และปูทางให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ซึ่งจะทำให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดแลกกับการที่อิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์
นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเอเชีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ โดยรายงานระบุว่า ยอดขายน้ำมันเบนซินและดีเซลของโรงกลั่นในอินเดียดิ่งลง 20% ในช่วงครึ่งเดือนแรกนี้ เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว หลังการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งได้กระทบการบริโภคน้ำมันในอินเดีย
ทางด้านรัฐบาลไต้หวันประกาศขยายเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์บางส่วน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ ไต้หวันได้ประกาศยกระดับการแจ้งเตือนโควิด-19 ขึ้นเป็นระดับ 3 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20-28 พ.ค.
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไต้หวันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่เกือบ 1,000 ราย ทำให้ต้องออกมาตรการควบคุมเมืองไทเปซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับชาวไต้หวันที่ต้องการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ