สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อคืนนี้ (2 มิ.ย.) ขานรับมติของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากความล่าช้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ซึ่งจะทำให้อิหร่านยังไม่มีแนวโน้มที่จะส่งน้ำมันออกสู่ตลาดในเร็วๆนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.11 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 68.83 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2561
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.10 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 71.35 ดอลลาร์/บาร์เรล
ที่ประชุมโอเปกพลัสเห็นพ้องที่จะดำเนินการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 2.1 ล้านบาร์เรล/วันระหว่างเดือนพ.ค.-ก.ค. ขณะที่มกุฎราชกุมาร อับดุลลาซิซ บิน ซัลมาน รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบียได้แสดงความเห็นว่า อุปสงค์ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในสหรัฐและจีน รวมทั้งการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จะช่วยให้ตลาดน้ำมันโลกกลับสู่ภาวะสมดุลได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม โอเปกพลัสยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการผลิตหลังจากเดือนก.ค. โดยกลุ่มโอเปกพลัสจะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 1 ก.ค.นี้
ทั้งนี้ โอเปกพลัสคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 6 ล้านบาร์เรล/วัน แตะที่ 96.5 ล้านบาร์เรล/วัน จากระดับ 90.5 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2563 โดยตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดของโอเปกพลัสนั้นไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยหนุนจากความล่าช้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ซึ่งจะทำให้อิหร่านยังไม่มีแนวโน้มที่จะส่งน้ำมันออกสู่ตลาดในเร็วๆนี้
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล แพลทส์ คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะลดลง 1.7 บาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ค.