สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (24 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากความหวังที่ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศซึ่งรวมถึงเยอรมนี จะช่วยกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 1 ก.ค.นี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 22 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 73.30 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 37 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 75.56 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561
สัญญาน้ำมันดิบได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งของเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยุโรป รวมทั้งรายงานที่ว่า ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีขยายตัวมากกว่าคาดการณ์ในเดือนมิ.ย. เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ประเมินว่าสถานการณ์ของธุรกิจปัจจุบันเริ่มดีขึ้น
ทั้งนี้ Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้นแตะระดับ 101.8 จากระดับ 99.2 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิ.ย.สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 100.6
นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 7.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 6.3 ล้านบาร์เรล
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) รายงานก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 7.2 ล้านบาร์เรลในรอบสัปดาห์ดังกล่าว
นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 1 ก.ค.
นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ซึ่งหากมีการบรรลุข้อตกลง ก็จะทำให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง