สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ทั้งในยุโรปและเอเชียนั้น จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในสัปดาห์นี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.14 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 72.91 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2564
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 1.50 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 74.68 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยอินโดนีเซียพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 20,694 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,135,998 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นอกจากนี้มีรายงานว่า การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามไปทั้ง 34 จังหวัดของอินโดนีเซียแล้ว
ทางด้านรัฐบาลมาเลเซียประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ทั่วประเทศโดยไม่มีกำหนด จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดลงเมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.) เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ส่วนที่ซิดนีย์ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของออสเตรเลีย ได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากหน่วยงานสาธารณสุขของออสเตรเลียยังคงไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้
นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 1 ก.ค. ซึ่งที่ประชุมจะกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันในเดือนส.ค. โดยคาดว่าโอเปกพลัสจะพิจารณาปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อุปสงค์น้ำมันจากสหรัฐ ยุโรป และจีน รวมทั้งแนวโน้มที่อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด
นายแอนโทนี บลินเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ยอมรับว่าการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 กับอิหร่าน ยังคงมีประเด็นที่ต้องหารือกันต่อไป แต่เขาหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความคืบหน้ามากขึ้นในการเจรจาครั้งต่อไป
ทั้งนี้ หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลง ก็จะทำให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง
เอเอ็นแซดและไอเอ็นจีคาดการณ์ว่า โอเปกพลัสจะตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรล/วันในเดือนส.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากโอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรล/วันในเดือนส.ค. หรือต่ำกว่าระดับดังกล่าว ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นต่อไป แต่หากโอเปกพลัสตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วัน หรือมากกว่านั้น ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่