สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวขึ้น หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ปฏิเสธข้อเสนอการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต
ณ เวลา 18.25 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนส.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 1.01 ดอลลาร์ หรือ 1.34% สู่ระดับ 76.17 ดอลลาร์/บาร์เรล
กลุ่มโอเปกพลัสได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจากในการประชุมเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน
รายงานระบุว่า ซาอุดีอาระเบียและชาติสมาชิกโอเปกพลัสได้เสนอให้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 2 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนส.ค.-ธ.ค.2564 โดยให้ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาร์เรล/วัน และขยายเวลาในการลดกำลังการผลิตที่เหลือไปจนถึงปลายปี 2565
ทางด้าน UAE ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอให้ขยายเวลาในการลดกำลังการผลิตที่เหลือไปจนถึงปลายปี 2565 จากกำหนดการเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือนเม.ย.ปีนี้ นอกจากนี้ UAE ยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในการกำหนดระดับการผลิตขั้นต่ำ โดยหวังว่าจะทำให้โควต้าการผลิตน้ำมันของ UAE เพิ่มขึ้น
การที่ UAE ยังคงปฏิเสธข้อเสนอของชาติสมาชิกรายอื่นๆ ของโอเปกพลัสนั้น เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การประชุมโอเปกพลัสต้องถูกเลื่อนออกไปหลายครั้ง โดยโอเปกพลัสได้จัดการประชุมตามกำหนดในวันพฤหัสบดีที่ 1 ก.ค. แต่ได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันศุกร์ที่ 2 ก.ค. เนื่องจาก UAE ได้คัดค้านข้อเสนอของที่ประชุม จากนั้นโอเปกพลัสได้จัดการประชุมอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 5 ก.ค. แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถตกลงกันได้และตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไป เนื่องจาก UAE ยังคงคัดค้านข้อเสนอ
แหล่งข่าวของโอเปกพลัสระบุว่า นายโมฮัมหมัด บาร์คินโด เลขาธิการโอเปกได้แถลงเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) ว่า เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้โอเปกพลัสตัดสินใจยกเลิกการประชุม และยังไม่มีการตกลงกันว่าจะจัดการประชุมครั้งต่อไปเมื่อใด
ด้านโฆษกทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ว่า "สหรัฐอเมริกากำลังจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสอย่างใกล้ชิด และจับตาผลกระทบที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากที่เศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าสหรัฐไม่ได้มีส่วนร่วมในการประชุมโอเปกพลัส แต่เราก็มีส่วนในผลกระทบที่จะตามมา และเราขอเรียกร้องให้โอเปกพลัสเร่งหาทางออกด้วยการประนีประนอม เพื่อให้ข้อเสนอของโอเปกพลัสมีความคืบหน้า"
ทั้งนี้ นายแดน บรุยแย็ตต์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของสหรัฐ แสดงความคิดเห็นว่า มีโอกาสสูงที่ราคาน้ำมันจะพุ่งแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล หากโอเปกพลัสเจรจาไม่ลงตัว