สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (29 ก.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะลดลง นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยกดดันตลาด
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 46 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 74.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 45 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 78.64 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 4.5 ล้านบาร์เรล
ข้อมูลของ EIA สอดคล้องกับที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) รายงานก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.61% แตะที่ 94.3392 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและมีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยรายงาน "2021 World Oil Outlook" เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน แตะที่ระดับ 101.6 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ดี โอเปกได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในระยะยาว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2573 จะอยู่ที่ 106.6 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งลดลง 600,000 บาร์เรล/วันจากระดับของปี 2563 และต่ำกว่าระดับที่โอเปกเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้อยู่ 11 ล้านบาร์เรล/วัน
นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 4 ต.ค. โดยคาดว่าการประชุมดังกล่าวซึ่งจะมีการหารือเกี่ยวกับแผนการด้านอุปทานนั้น จะมีผลต่อทิศทางราคาน้ำมัน