สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนในวันอังคาร (11 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากภาวะน้ำมันตึงตัวในตลาด รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 2.99 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 81.22 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 2564
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 2.85 ดอลลาร์ 3.5% ปิดที่ 83.72 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2564
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดพุ่งขึ้นทะลุระดับ 81 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยได้แรงหนุนจากภาวะน้ำมันตึงตัวในตลาด หลังมีรายงานว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ผลิตน้ำมันต่ำกว่าโควตาที่กำหนด
ทั้งนี้ โอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรล/วันในเดือนม.ค. แต่สมาชิกบางราย ได้แก่ ไนจีเรียและลิเบีย ไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ตามโควตา เนื่องจากประสบปัญหาการผลิตในประเทศ
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถฝ่าฟันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไปได้ และเชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจนั้นจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น
นายพาวเวลได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อคืนนี้ตามเวลาไทยว่า ห่วงโซ่อุปทานที่กลับสู่ภาวะปกติจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันจากเงินเฟ้อในปีนี้ แต่เฟดก็ไม่กลัวที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี นายพาวเวลเชื่อมั่นว่า แผนการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟดในปีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจสหรัฐก็แข็งแกร่งพอที่จะทำให้เฟดไม่ต้องใช้มาตรการกระตุ้นขนานใหญ่อีกต่อไป
นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ เวลา 22.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล แพลทส์คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะลดลง 1.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 7 ม.ค.