สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเหนือระดับ 82 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันพุธ (12 ม.ค.) ขานรับตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าการคาดการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐยังคงแข็งแกร่งแม้ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดในประเทศ
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.42 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 82.64 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2564
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 95 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 84.67 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2564
สัญญาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 4.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 1.6 ล้านบาร์เรล
EIA ยังระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 2.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวของ EIA สอดคล้องกับรายงานของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 1.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
เจฟฟรีย์ ฮัลลีย์ นักวิเคราะห์จาก OANDA คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากทะยานขึ้น 50% ในปีที่แล้ว โดยเขากล่าวว่า "หากเศรษฐกิจจีนไม่ทรุดตัวลง และโอเปกพลัสยังคงเพิ่มการผลิตเพียงเล็กน้อย ผมก็คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้ หรือเร็วกว่านั้น"
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังเปิดเผยว่า ราคาน้ำมันได้ปัจจัยหนุนจากการที่ประเทศต่าง ๆ จะไม่หันกลับไปล็อกดาวน์เศรษฐกิจแบบที่ได้ดำเนินการในปี 2563 แม้มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในขณะนี้ รวมทั้งได้ปัจจัยบวกจากการที่ภาคธุรกิจยังคงมีการลงทุนที่จำกัดในอุตสาหกรรมน้ำมัน และจากภาวะน้ำมันตึงตัวในตลาด ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ผลิตน้ำมันต่ำกว่าโควตาที่กำหนด เนื่องจากสมาชิกบางราย ได้แก่ ไนจีเรียและลิเบีย ประสบปัญหาการผลิตในประเทศ
ทางด้านมอร์แกน สแตนลีย์คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งแตะ 90 ดอลลาร์ในไตรมาส 3 ขณะที่เจพีมอร์แกนคาดว่าราคาน้ำมันจะแตะระดับ 90 ดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้