สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้นทะลุ 90 ดอลลาร์ในวันนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดยได้แรงหนุนจากความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมัน
ณ เวลา 00.39 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 2.23 ดอลลาร์ หรือ 2.61% สู่ระดับ 87.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 2.17 ดอลลาร์ หรือ 2.46% สู่ระดับ 90.37 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยดีดตัวเหนือระดับ 90 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2557
นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนลีย์ และเจพีมอร์แกนต่างคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งแตะ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ ท่ามกลางภาวะน้ำมันตึงตัว และอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในตลาด
ทำเนียบเครมลินออกแถลงการณ์เตือนในวันนี้ว่า รัสเซียจะทำการตอบโต้อย่างรวดเร็ว หากสหรัฐและพันธมิตรปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซีย และยังคงดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าว
ทั้งนี้ รัสเซียยื่นข้อเรียกร้องต่อสหรัฐและชาติตะวันตกเพื่อให้มีการรับประกันว่า องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะไม่รับยูเครนและประเทศซึ่งเคยอยู่ในอดีตสหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิก ขณะที่สหรัฐและพันธมิตรจะต้องถอนกำลังทหารออกจากกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต
นอกจากนี้ รัสเซียระบุว่าจะไม่ตัดทางเลือกในการเพิ่มกำลังทหารและยุทโธปกรณ์เข้าไปในคิวบาและเวเนซุเอลา หากข้อเรียกร้องของรัสเซียไม่ได้รับการตอบสนอง
หากรัสเซียเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในคิวบาและเวเนซุเอลา ก็จะถือว่ารัสเซียมีกำลังทหารเข้าใกล้พรมแดนสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2505 ซึ่งมีการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียต จนเกือบลุกลามกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์
ทางด้านกบฎฮูตีใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีแหล่งกักเก็บเชื้อเพลิงของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี (ADNOC) และพื้นที่ก่อสร้างใกล้ท่าอากาศยานนานาชาติอาบูดาบี ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะยังคงยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันในการประชุมในวันที่ 2 ก.พ. เพื่อพิจารณานโยบายการผลิตสำหรับเดือนมี.ค.
ก่อนหน้านี้ โอเปกพลัสมีมติในเดือนก.ค.2564 ในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 400,000 บาร์เรล/วันในแต่ละเดือน จนถึงเดือนเม.ย.2565
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล
สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 872,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 2.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล