สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงกว่า 2% ในวันพฤหัสบดี (24 มี.ค.) หลังมีรายงานว่าสหภาพยุโรป (EU) ยังไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับแผนการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย รวมทั้งรายงานข่าวที่ว่า การส่งออกน้ำมันจากบริษัท แคสเปียน ไปป์ไลน์ คอนซอร์เทียม (CPC) ในคาซัคสถาน อาจจะเริ่มกลับมาดำเนินการได้บางส่วนในไม่ช้านี้
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 2.59 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 112.34 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 2.57 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 119.03 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังมีรายงานว่า ประเทศสมาชิกกลุ่ม EU ยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมพลังงานของรัสเซีย เนื่องจาก EU จำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานของรัสเซียอย่างมาก
ทางด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศว่า ประเทศที่อยู่ในรายชื่อ "ไม่เป็นมิตร" ของรัสเซีย จะต้องชำระค่าซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นสกุลรูเบิลเท่านั้น โดยประเทศถูกระบุในรายชื่อดังกล่าวคือประเทศที่ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งประเทศเหล่านี้รวมถึง สหรัฐ, สหภาพยุโรป และแคนาดา
สัญญาน้ำมันดิบยังร่วงลงหลังจากมีรายงานว่า การส่งออกน้ำมันจาก CPC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัสเซียและคาซัคสถาน อาจจะเริ่มกลับมาดำเนินการได้บางส่วนในไม่ช้านี้ หลังจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา CPC ไม่สามารถส่งออกน้ำมันจากโรงงานที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลดำ เนื่องจากได้รับความเสียหายจากพายุ
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมันยังถูกกดดันหลังจากนายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐและพันธมิตรมีความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งหากมีการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ก็จะปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่การผลิตน้ำมันของอิหร่านลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตรในปี 2561 หลังจากที่อดีตประนาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2558