ราคาน้ำมันดิบยังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่องในวันนี้ โดยล่าสุด สัญญาล่วงหน้า WTI หลุดระดับ 100 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์หลุด 106 ดอลลาร์
ณ เวลา 19.42 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลบ 6.69 ดอลลาร์ หรือ 6.05% สู่ระดับ 99.27 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ลบ 6.64 ดอลลาร์ หรือ 5.90% สู่ระดับ 105.84 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันทรุดตัวลง หลังเจ้าหน้าที่รัสเซียระบุว่าการเจรจาสันติภาพรอบใหม่กับยูเครนเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ในวันนี้ โดยการเจรจาดังกล่าวจัดขึ้นที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี และใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงหยุดยิง
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซียรายงานโดยอ้างกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า รัสเซียจะลดปฏิบัติการทางทหาร "ลงอย่างมาก" รอบกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูเครน รวมทั้งเมืองเชอร์นิฮิฟ
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับผลกระทบจากการที่จีนประกาศมาตรการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก
ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่สหภาพยุโรป (EU) ไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับแผนการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย รวมทั้งรายงานที่ว่า บริษัทแคสเปียน ไปป์ไลน์ คอนซอร์เทียม (CPC) ได้เริ่มกลับมาส่งออกน้ำมันบางส่วน หลังจากมีการระงับส่งออกก่อนหน้านี้ เนื่องจากประสบความเสียหายจากพายุ
นอกจากนี้ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐและพันธมิตรประสบความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งหากมีการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ก็จะปูทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด
นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งคาดว่าโอเปกพลัสจะยังคงมีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิม โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียงเล็กน้อยในเดือนพ.ค.
ที่ผ่านมา โอเปกพลัสได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรล/วันในทุกเดือน นับตั้งแต่เดือนส.ค.2564 นอกจากนี้ โอเปกพลัสตกลงกันตั้งแต่ปีที่แล้วที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 432,000 บาร์เรล/วันในเดือนพ.ค.ปีนี้
ทั้งนี้ สหรัฐและหลายชาติที่นำเข้าน้ำมันต่างเรียกร้องให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตให้มากกว่าในระดับปัจจุบัน ขณะที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 139 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ซาอุดีอาระเบียจะยังคงเพิ่มกำลังการผลิตตามมติเดิม เนื่องจากไม่ต้องการส่งสัญญาณขัดแย้งกับรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกในโอเปกพลัสเช่นกัน