สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันศุกร์ (22 เม.ย.) โดยถูกกดดันจากปัจจัยลบต่าง ๆ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง, อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และการล็อกดาวน์ในจีนเพื่อสกัดโรคโควิด-19 ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 1.72 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 102.07 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 1.68 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 106.65 ดอลลาร์/บาร์เรล
ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ร่วงลง 4.1% และ 4.5% ตามลำดับ
คาร์สเตน ฟริตช์ นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของคอมเมิร์ซแบงก์ รีเสิร์ชระบุในวันศุกร์ว่า "ตลาดน้ำมันได้ถูกกดดันส่วนหนึ่งจากความวิตกด้านอุปสงค์"
"อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งขึ้นอย่างมาก, ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และตลาดหุ้นที่ดิ่งลงเป็นปัจจัยกดดันตลาดน้ำมันด้วย" เขากล่าวเสริม
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือ 3.6% ซึ่งทำให้ตลาดวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลก
ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ค. ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543
นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลกับความต้องการใช้น้ำมันในจีนซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก หลังจากที่เซี่ยงไฮ้ประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19