สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (13 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากมุมมองที่ว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกยังคงเผชิญภาวะตึงตัว อย่างไรก็ดี การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่จีนกลับมาใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดอีกครั้งในกรุงปักกิ่ง จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 120.93 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 122.27 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักวิเคราะห์จากยูบีเอสกล่าวว่า ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากภาวะอุปทานตึงตัวในตลาด อันเนื่องมาจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันตามข้อตกลง เนื่องจากบางประเทศประสบปัญหาการผลิต นอกจากนี้ การที่สหภาพยุโรป (EU) แบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจะยิ่งทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
อย่างไรก็ดี ตลาดน้ำมันได้รับแรงกดดันจากการที่กรุงปักกิ่งประกาศล็อกดาวน์เขตเฉาหยางซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรมากที่สุดของปักกิ่ง และสั่งปูพรมตรวจเชื้อโควิด-19 ครั้งใหญ่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะชะลอตัวลง
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมันยังถูกกดดันจากความกังวลที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นักวิเคราะห์จากหลายสำนักซึ่งรวมถึงบาร์เคลยส์และเจฟเฟอรีส์ต่างก็คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.3%
นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ เวลา 21.30 น.ตามเวลาไทย