สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด WTI ดิ่งลงกว่า 5% ใกล้หลุดระดับ 93 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์หลุด 100 ดอลลาร์ โดยนักลงทุนกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะฉุดความต้องการใช้น้ำมัน
ณ เวลา 22.47 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลบ 5.62 ดอลลาร์ หรือ 5.69% สู่ระดับ 93.00 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ดิ่งลง 4.67 ดอลลาร์ หรือ 4.69% สู่ระดับ 99.30 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลาดวิตกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะฉุดอุปสงค์น้ำมัน หลังการเปิดเผยภาคการผลิตที่อ่อนแอของสหรัฐ, ยุโรป และจีน
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 52.8 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563
ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งเป็นการหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่การจ้างงานหดตัวลงเป็นเดือนที่ 3
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตร่วงลงสู่ระดับ 49 ในเดือนก.ค. จากระดับ 50.2 ในเดือนมิ.ย.
เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนลดลงสู่ระดับ 49.8 ในเดือนก.ค. จากระดับ 52.1 ในเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ของจีนและยูโรโซนอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการเพิ่มกำลังการผลิตของลิเบียสู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน จากเดิมที่ระดับ 800,000 บาร์เรล/วัน
ทางด้านเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 11 แท่นในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 23 ติดต่อกัน
นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันพุธนี้ โดยที่ประชุมจะพิจารณานโยบายการผลิตสำหรับเดือนก.ย. หลังจากมีมติเพิ่มกำลังการผลิต 648,000 บาร์เรล/วันในเดือนส.ค.