สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (4 ส.ค.) โดยราคาน้ำมันดิ่งหลุดจากระดับ 90 ดอลลาร์/บาร์เรลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ. เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลงด้วย
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 2.12 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 88.54 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ดิ่งลง 2.66 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 94.12 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.
บรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมันได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในสหรัฐและยุโรป รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่จีนใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยล่าสุดจีนสั่งล็อกดาวน์เมืองซานย่า ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลไหหลำ หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยนานถึง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นช่วงเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤตการเงิน โดยรายได้ในภาคครัวเรือนของอังกฤษจะทรุดตัวลงอย่างหนักในปี 2565-2566 ขณะที่การบริโภคเริ่มหดตัว
ส่วนเศรษฐกิจของสหรัฐหดตัว 0.9% ในไตรมาส 2 หลังจากหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
จิโอวานนี สตาโนโว นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากบริษัทยูบีเอสกล่าวว่า ตลาดน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากสต็อกน้ำมันดิบและสต็อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐที่พุ่งขึ้นอย่างเหนือความคาดหมายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐชะลอตัวลง
ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 700,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 163,000 บาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล