สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 90 ดอลลาร์ในวันพุธ (31 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หลังมีรายงานว่าเมืองใหญ่หลายแห่งของจีนเพิ่มความเข้มงวดในการใช้มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 รวมทั้งรายงานที่ว่าภาคการผลิตจีนหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 2.09 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 89.55 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ดิ่งลง 2.82 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 96.49 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลอดเดือนส.ค. สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงทั้งสิ้น 9.2% และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลง 12.3%
นักลงทุนวิตกกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอ่อนแอลงด้วย โดยเฉพาะจีนซึ่งมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนส.ค.อยู่ที่ระดับ 49.4 ซึ่งแม้ว่าขยับขึ้นจากระดับ 49 ในเดือนก.ค. แต่ดัชนี PMI อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบของโรคโควิด-19, วิกฤตพลังงาน และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้มีรายงานว่า เมืองกวางโจประกาศเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อวานนี้ และพื้นที่หลายส่วนในเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของจีนและเมืองต้าเหลียนยังคงอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์
ทั้งนี้ ความวิตกกังวลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 3.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 500,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล
นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า โอเปกพลัสอาจประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันในการประชุมครั้งนี้ เพื่อพยุงราคาในตลาด