สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (13 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่สูงกว่าคาดจะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 47 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 87.31 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 83 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 93.17 ดอลลาร์/บาร์เรล
ในช่วงแรกนั้น สัญญาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากรายงานที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 434.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2527
แต่หลังจากนั้นไม่นาน สัญญาน้ำมันร่วงลงเนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงขึ้นในการประชุมเดือนนี้ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1%
นักลงทุนเริ่มคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลข CPI ที่สูงกว่าคาด โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 32% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% สู่ระดับ 3.25-3.50% ในการประชุมเดือนนี้ และให้น้ำหนัก 82% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังทำให้สัญญาน้ำมันซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1.37% แตะระดับ 109.8150 เมื่อคืนนี้
นักลงทุนจับตาตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันนี้ เวลาประมาณ 21.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐจะลดลง 200,000 บาร์เรล ซึ่งจะลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน