สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันพฤหัสบดี (15 ก.ย.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 3.38 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 85.10 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย.
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ดิ่งลง 3.26 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 90.84 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 109.7400 เมื่อคืนนี้ ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
นักลงทุนวิตกว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งรวมถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะทำให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย และส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนัก 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00%
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังถูกแรงกดดันจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอยเนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทางด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เตือนว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะหยุดชะงักลงในไตรมาส 4 โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน และกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)