ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจต่อการตัดสินใจของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งสวนทางความต้องการของสหรัฐ
แถลงการณ์ระบุว่า "ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีความผิดหวังต่อการตัดสินใจอย่าง 'สายตาสั้น' ของโอเปกพลัส ซึ่งได้ปรับลดโควตาการผลิต ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน"
ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ปธน.ไบเดนได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานสหรัฐทำการระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) อีก 10 ล้านบาร์เรลในเดือนพ.ย.เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน
นอกจากนี้ ทำเนียบขาวจะทำการปรึกษาหารือกับสภาคองเกรสเพื่อหาทางลดอำนาจการควบคุมราคาน้ำมันของโอเปกพลัส โดยอาจมีการออกกฎหมายเพื่อเปิดช่องให้มีการฟ้องร้องโอเปกพลัสในคดีต่อต้านการผูกขาดตลาด
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวมีชื่อว่า "โนเปก" (No Oil Producing and Exporting Cartels) หรือ NOPEC โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกร่างขึ้นเพื่อปกป้องผู้บริโภคและภาคธุรกิจสหรัฐจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันโดยไม่มีเหตุอันควร (artificial oil spikes)
ขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชุดเล็กของวุฒิสภาในเดือนพ.ค.แล้ว และจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมเต็มคณะของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ รวมทั้งได้รับการลงนามจากปธน.ไบเดน ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
หากกฎหมาย "โนเปก" มีผลบังคับใช้ จะทำให้ประเทศในกลุ่มโอเปกพลัสมีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในคดีสมรู้ร่วมคิดปรับลดกำลังการผลิตเพื่อผลักดันราคาน้ำมันในตลาด
ขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวยืนยันว่า การที่ปธน.ไบเดนเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียในเดือนก.ค. ไม่ถือว่าเป็นการสูญเปล่าแต่อย่างใด
"เราพูดในขณะนั้นว่า การเดินทางของท่านประธานาธิบดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับน้ำมันแต่อย่างใด แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น ซึ่งก็คือเป้าหมายทางด้านยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ของประเทศ" นายจอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาว กล่าว
นอกจากนี้ นายเคอร์บีระบุว่า รัฐบาลของปธน.ไบเดนเห็นพ้องกันว่า สหรัฐจำเป็นที่จะต้องลดการพึ่งพาน้ำมันจากโอเปกพลัสและผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ
ที่ผ่านมา สหรัฐพยายามกดดันซาอุดีอาระเบียและโอเปกพลัสเพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากปธน.ไบเดนกังวลว่าราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นจะกระทบต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนหน้า
ทั้งนี้ โอเปกพลัสจัดการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตวานนี้ โดยที่ประชุมมีมติปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2