สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 2% หลุดระดับ 88 ดอลลาร์ในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางทั่วโลก จะทำให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย และส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งจะลดความน่าดึงดูดของสัญญา โดยทำให้สัญญาน้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ณ เวลา 21.38 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลบ 1.86 ดอลลาร์ หรือ 2.08% สู่ระดับ 87.50 ดอลลาร์/บาร์เรล
นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชส เตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปีนี้และปีหน้า โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ และการที่จีนใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ ในรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนต.ค. โอเปกระบุว่า อุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 2.64 ล้านบาร์เรล/วัน หรือ 2.7% ในปีนี้ โดยลดลง 460,000 บาร์เรล/วันจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ โอเปกระบุว่า อุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 2.34 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า โดยลดลง 360,000 บาร์เรล/วันจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน โอเปกปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 3.1% และปรับลดตัวเลขคาดการณ์สำหรับปีหน้า สู่ระดับ 2.5%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ในวันนี้ ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยในวันพรุ่งนี้