สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (3 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่จีนยึดมั่นในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอย และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลงด้วย
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.83 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 88.17 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 1.49 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 94.67 ดอลลาร์/บาร์เรล
คณะกรรมการเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ในปีนี้ นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น และขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่เฟดจะพิจารณาเรื่องการระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
คำกล่าวของนายพาวเวลทำให้นักลงทุนกังวลว่าวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะยาวนานกว่าที่คาดไว้ และยังส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างมาก โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 1.4% แตะที่ระดับ 112.9260 เมื่อคืนนี้
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันหลังจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) ยืนยันว่า จีนจะยึดมั่นในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID Policy) แม้ว่าการล็อกดาวน์และการใช้มาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ตาม ซึ่งคำยืนยันดังกล่าวเป็นการดับความหวังของนักลงทุนที่รอคอยการเปิดประเทศของจีน
ทั้งนี้ ข้อมูลของ NHC ระบุว่า จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 3,200 รายในวันพุธที่ 2 พ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง