สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และความหวังที่ว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะฟื้นตัว หลังจากทางการจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในกรุงปักกิ่งและเมืองกว่างโจว
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 67 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 81.22 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 9 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 86.88 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 1.15% แตะที่ระดับ 104.7300 เมื่อคืนนี้ โดยการอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
นอกจากนี้ นักลงทุนยังขานรับรายงานข่าวที่ว่า ทางการจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในกรุงปักกิ่งและเมืองกว่างโจว โดยที่กรุงปักกิ่งนั้นอนุญาตให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงกักตัวที่บ้านเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ แทนมาตรการเดิมที่ผู้ติดเชื้อจะต้องเข้ารับการรักษาในศูนย์กักตัวที่รัฐบาลจัดสรรไว้ไม่ว่าจะติดเชื้อรุนแรงเพียงใดก็ตาม ขณะที่เมืองกว่างโจวได้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์แล้วเมื่อวานนี้
ทางด้านนางซุน ชุนหลาน รองนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า จีนกำลังเผชิญกับ "สถานการณ์ใหม่" และความท้าทายในการป้องกันและควบคุมโรค หลังจากประชาชนจำนวนมากพร้อมใจกันออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ นางซุนกล่าวว่า ขณะนี้ความสามารถในการก่อโรค (pathogenicity) ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากประชาชนฉีดวัคซีนกันมากขึ้น และประสบการณ์ในการควบคุมไวรัสชนิดดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
นายถิง ลู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัทโนมูระกล่าวว่า "เราเชื่อว่าถ้อยแถลงของนางซุน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในกรุงปักกิ่งและเมืองกว่างโจว เป็นการส่งสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์อาจจะสิ้นสุดลงภายในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า"
นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันที่ 4 ธ.ค. ขณะที่แหล่งข่าว 5 รายระบุว่าโอเปกพลัสจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการผลิตในการประชุมครั้งนี้ ส่วนแหล่งข่าวอีก 2 รายคาดว่าโอเปกพลัสจะปรับลดกำลังการผลิตมากขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดจับตาการประชุมของสหภาพยุโรป (EU) เพื่อหาฉันทามติเกี่ยวกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า ที่ประชุม EU หารือกันเกี่ยวกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล และให้มีการทบทวนมาตรการดังกล่าวทุก 2 เดือน โดยหวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยให้ที่ประชุมบรรลุฉันทามติ หลังจากที่ก่อนหน้านี้สมาชิก EU มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ทั้งนี้ มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้รัสเซียมีรายได้ลดลงจากการจำหน่ายน้ำมันที่จะนำไปสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน แต่ก็จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลกจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลน
หาก EU ไม่สามารถบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ก็จะส่งผลให้ EU ต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นด้วยการประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดจากรัสเซียเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. และระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดจากรัสเซียตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดน้ำมันโลก