สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงเกือบ 3% หลุดระดับ 74 ดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ณ เวลา 21.52 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลบ 2.16 ดอลลาร์ หรือ 2.84% สู่ระดับ 73.95 ดอลลาร์/บาร์เรล
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับผลกระทบจากการที่นักลงทุนเทขายทำกำไรในตลาด หลังราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นก่อนหน้านี้ ขานรับคาดการณ์อุปสงค์ฟื้นตัวในปีหน้า
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกรายงานคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันตลาดโลกในปีหน้า โดยได้ปัจจัยบวกจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐและจีน
ทั้งนี้ ในรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนธ.ค. โอเปกระบุว่า อุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2566 สู่ระดับ 101.8 ล้านบาร์เรล/วัน โดยได้ปัจจัยหนุนจากภาวะผ่อนคลายด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการที่จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
โอเปกยังระบุว่า อุปสงค์น้ำมันในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานระบุว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นในปี 2566 โดยได้รับผลกระทบจากภาวะตึงตัวในตลาดจากการที่ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะที่อุปสงค์น้ำมันสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์
IEA คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันของรัสเซียจะลดลง 14% สู่ระดับ 9.6 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงสิ้นสุดไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งหากเป็นจริงตามคาด ก็จะทำให้ราคาสัญญาน้ำมันพลิกดีดตัวขึ้นสวนกระแสที่ปรับตัวลงก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ IEA คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันโลกจะเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2566 สู่ระดับ 101.6 ล้านบาร์เรล/วัน โดยได้แรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันจากอินเดียและจีน