สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 4% ในวันอังคาร (3 ม.ค.) โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงในจีน รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา และการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ร่วงลง 3.33 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 76.93 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมี.ค. ดิ่งลง 3.81 ดอลลาร์ หรือ 4.4% ปิดที่ 82.10 ดอลลาร์/บาร์เรล
รัฐบาลจีนประกาศเพิ่มโควตาส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันในปีนี้ ซึ่งตลาดมองว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอภายในประเทศ โดยขณะนี้จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลกยังคงต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่ผลสำรวจของไฉซิน/มาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนธ.ค.ของจีนลดลงสู่ระดับ 49.0 จากระดับ 49.4 ในเดือนพ.ย. โดยดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 5 เดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของจีนซึ่งรวมถึงภาคการผลิต
ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังจากนางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น โดยเศรษฐกิจโลกราว 1 ใน 3 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
"ปี 2566 จะเป็นปีที่ยากลำบากมากกว่าปี 2565 เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีนชะลอตัวลงพร้อมกัน โดยในปี 2564 เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ส่วนในปี 2566 เราคาดว่ายอดการติดเชื้อโควิด-19 ในจีนจะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และฉุดรั้งเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก" นางจอร์เจียวาให้สัมภาษณ์ในรายการ "Face the Nation" ทางสถานีโทรทัศน์ CBS เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ยังส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.95% แตะที่ 104.5070 เมื่อคืนนี้