สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (15 ก.พ.) โดยตลาดถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และความกังวลที่ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 47 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 78.59 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 20 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 85.38 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.65% แตะที่ระดับ 103.9080 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า ข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่ออกมาสูงเกินคาดจะผลักดันให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภค CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.2%
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 16.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว แตะที่ 471.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2564
อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงหนุนในระหว่างวัน หลังจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2566 สู่ระดับ 101.9 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
ทางด้านกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2566 ขึ้น 100,000 บาร์เรล/วัน โดยระบุว่าการเปิดประเทศของจีนจะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการน้ำมัน