สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (1 มี.ค.) หลังจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความหวังว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจะช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 64 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 77.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 84.31 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.พ.อยู่ที่ระดับ 52.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.1 ในเดือนม.ค. และเป็นการขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2555 โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของไฉซิน/เอสแอนด์พี โกลบอลซึ่งระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.พ.ของจีนพุ่งขึ้นแตะระดับ 51.6 จากระดับ 49.2 ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 50.2
อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงกดดันจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 480.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 400,000 บาร์เรล โดยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10 ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่ลดลง
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังมีรายงานว่า การผลิตน้ำมันของรัสเซียพุ่งขึ้นในเดือนก.พ. กลับสู่ระดับก่อนถูกสหรัฐและชาติตะวันตกคว่ำบาตร นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ.เช่นกัน