สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% ในวันอังคาร (7 มี.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 2.88 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 77.58 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ดิ่งลง 2.89 ดอลลาร์ หรือ 3.4% ปิดที่ 83.29 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมัน WTI และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ต่างก็ร่วงลงเป็นเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ปีนี้
จอห์น คิลดัฟฟ์ นักวิเคราะห์จากบริษัท Again Capital กล่าวว่า การส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของนายพาวเวลทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อีกทั้งทำให้ดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นกว่า 1% แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
นายพาวเวลได้แถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้าย (Terminal Rate) ของเฟดจะอยู่สูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ และหากข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่าเฟดควรคุมเข้มนโยบายการเงินให้เร็วขึ้น เฟดก็จะเพิ่มความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงหลังจากแตะจุดสูงสุดในปีที่แล้ว แต่กระบวนการที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% ยังคงเป็นหนทางอีกยาวไกลและไม่ราบรื่น และภารกิจในการต่อสู้เงินเฟ้อของเฟดยังคงไม่สิ้นสุด โดยเฟดจำเป็นที่จะต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการแถลงของนายพาวเวล นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 70% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อวันจันทร์ที่ระดับ 31%
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีน โดยสำนักงานศุลกากรจีนรายงานว่า ยอดส่งออกของจีนในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ปรับตัวลง 6.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี และยอดนำเข้าในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ร่วงลง 10.2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอลง
นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ เวลา 22.30 น.ตามเวลาไทย