สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันพุธ (8 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน โดยความกังวลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 92 เซนต์ หรือ 1.19% ปิดที่ 76.66 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 63 เซนต์ หรือ 0.76% ปิดที่ 82.66 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยในการแถลงต่อสภาคองเกรสในวันที่ 2 เมื่อวานนี้ นายพาวเวลย้ำว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับขนาดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. โดยเฟดจะพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับตลาดแรงงานและเงินเฟ้อ ซึ่งหากข้อมูลบ่งชี้ให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็วขึ้น เฟดก็พร้อมที่จะเพิ่มความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 1.7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล
ธนาคารบาร์เคลย์สปรับลดตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ โดยระบุถึงการผลิตน้ำมันดิบจากรัสเซียที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ บาร์เคลย์สคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมัน WTI ในปีนี้ที่ระดับ 92 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 87 ดอลลาร์/บาร์เรลตามลำดับ ลดลงจากเดิมที่ระดับ 98 ดอลลาร์/บาร์เรล และ 94 ดอลลาร์/บาร์เรลตามลำดับ
อย่างไรก็ดี บาร์เคลย์สเตือนว่าตลาดอาจเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำมัน 500,000 บาร์เรล/วันในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อันเนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากจีน หลังจากที่มีการเปิดประเทศอย่างเต็มตัว ขณะที่การขยายตัวของการผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกอาจชะลอตัวลง