สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2% ในวันพุธ (12 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด และข้อมูลสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค.พุ่งขึ้น 1.73 ดอลลาร์ หรือ 2.12% ปิดที่ 83.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้น 1.72 ดอลลาร์ หรือ 2.01% ปิดที่ 87.33 ดอลลาร์/บาร์เรล
การเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาดทำให้ตลาดเชื่อมั่นในอุปสงค์น้ำมัน และทำให้ราคาพุ่งขึ้นอย่างมาก
นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด จะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ด้วย
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันพุธว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนมี.ค. โดยดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.0% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.1% และชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% และชะลอตัวจากระดับ 0.4% ในเดือนก.พ.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากแตะระดับ 5.5% ในเดือนก.พ.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมี.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ 0.5% ในเดือนก.พ.
ส่วนสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยในวันพุธว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ ลดลง 400,000 บาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 300,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 900,000 บาร์เรล
นอกจากนี้ สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 600,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล