สัญญาน้ำมันดิบ WTI ดิ่งลงกว่า 2% หลุดระดับ 80 ดอลลาร์ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนวิตกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย และกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งจะลดความน่าดึงดูดของสัญญา โดยทำให้สัญญาน้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ณ เวลา 19.16 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลบ 1.65 ดอลลาร์ หรือ 2.04% สู่ระดับ 79.21 ดอลลาร์/บาร์เรล
นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนพ.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 88.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 11.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%
นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ก่อนที่จะพักการดำเนินการด้านดอกเบี้ยเพื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการที่เฟดใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน
อย่างไรก็ดี นายบอสติกกล่าวว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด แม้เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายระบุเตือนในการประชุมเดือนมี.ค.ว่าสหรัฐอาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้
ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายบอสติกสวนทางคาดการณ์ของตลาด ซึ่งมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ก่อนสิ้นปี 2566
ขณะเดียวกัน นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค. หลังอังกฤษเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่า 10% และอยู่ในระดับสูงสุดของยุโรปตะวันตก
ก่อนหน้านี้ BoE คาดการณ์ในเดือนก.พ.ว่า เงินเฟ้อจะชะลอตัวสู่ระดับ 9.2% ในเดือนมี.ค.
ผลสำรวจล่าสุดพบว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97% ที่ BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 82% เมื่อวานนี้
ตลาดจับตาการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ หลังจากที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบลดลง 2.68 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว