สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันพุธ (26 เม.ย.) โดยนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และผลกระทบของการที่ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 2.77 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 74.30 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 3.08 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 77.69 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมัน WTI ร่วงลงกว่า 2% ในวันอังคาร และดิ่งลงอีกกว่า 3% ในวันพุธ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจาก Conference Board รายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเดือนเม.ย.ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน และล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและเป็นดัชนีบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ปรับตัวลง 0.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.1% หลังจากดิ่งลง 0.7% ในเดือนก.พ.
สตีเฟน เบรนนอค นักวิเคราะห์จากบริษัท PVM Oil กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.
ความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 5.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 2.3 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 180,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 600,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล