สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (12 พ.ค.) โดยถูกกดดันจากการเปิดเผยผลสำรวจที่บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงในเดือนพ.ค.
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 83 เซนต์ หรือ 1.17% ปิดที่ 70.04 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวลง 1.8% ในรอบสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 81 เซนต์ หรือ 1.08% ปิดที่ 74.17 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวลง 1.5% ในรอบสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน
วลาดิเมียร์ เซอร์นอฟ นักวิเคราะห์จากบริษัทเอฟเอ็กซ์ เอ็มไพร์ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลตลาดเปิดเผยว่า ตลาดน้ำมันเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก ขณะที่บรรดาเทรดเดอร์ยังคงวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย
นายเซอร์นอฟกล่าวว่า "ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่อ่อนแอเกินคาดนั้นเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมันดิบ WTI"
ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงในเดือนพ.ค. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและวิกฤตในภาคธนาคาร
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคร่วงลงสู่ระดับ 57.7 ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0 จากระดับ 63.5 ในเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.5% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า และสำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.2% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2551
เอ็ดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของโออันดา ซึ่งให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการที่ดอลลาร์สหรัฐทะยานขึ้นต่อ
ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นราว 0.6% ในวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์เพิ่มขึ้นในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย
การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้น และไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ
ราคาน้ำมันปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งเป็นช่วงขาลงที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2564 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและจีน
บรรดานักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยได้รับผลกระทบจากวิกฤตภาคธนาคารและเพดานหนี้สหรัฐ