สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) ขานรับสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี นอกจากนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยหนุนตลาดน้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 1.14 ดอลลาร์ หรือ 1.50% ปิดที่ 76.89 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.25 ดอลลาร์ หรือ 1.56% ปิดที่ 81.36 ดอลลาร์/บาร์เรล
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI เดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนพ.ค.ที่มีการขยายตัว 0.9% และเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2563
ข้อมูลดังกล่าวทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง และจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้า โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 92.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนัก 42.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค. 2567 โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระดับ 18.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
การชะลอตัวของเงินเฟ้อส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงและเป็นปัจจัยดึงดูดแรงซื้อสัญญาน้ำมันดิบเช่นกัน โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลง 0.75% แตะระดับ 99.7696 เมื่อคืนนี้
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปี 2566 อีก 100,000 บาร์เรล/วัน โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในจีนในช่วงไตรมาสที่ 2