สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นในวันศุกร์ (1 ก.ย.) แตะระดับสูงสุดของปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของจีนได้ช่วยหนุนตลาดน้ำมันด้วยก่อนที่ตลาดจะปิดทำการต่อเนื่อง 3 วันในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เนื่องจากวันจันทร์ (4 ก.ย.) เป็นวันแรงงานซึ่งเป็นวันหยุดประจำชาติของสหรัฐ
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. พุ่งขึ้น 1.92 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 85.55 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2565 ขณะที่ปรับตัวขึ้น 7.2% ในรอบสัปดาห์นี้ และเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนส.ค.
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. พุ่งขึ้น 1.72 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 88.55 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 2565 โดยปรับตัวขึ้น 5.5% ในรอบสัปดาห์นี้ และปรับตัวขึ้น 1.5% ในเดือนส.ค.
สัญญาน้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้นในเดือนส.ค.เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยสัญญาน้ำมันได้แรงหนุนจากการที่จีนเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดที่ระดับ 51 ในเดือนส.ค. และจีนได้สั่งปรับลดเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้านด้วย
ตลาดน้ำมันยังปรับตัวขึ้นขานรับการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปีนี้
บรรดาเทรดเดอร์คาดการณ์ว่า ซาอุดีอาระเบียจะประกาศขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นเดือนต.ค. ขณะที่รัสเซียประกาศบรรลุข้อตกลงกับโอเปกพลัสในการปรับลดกำลังการผลิต โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์
ตลาดมองว่าอัตราการว่างงานที่พุ่งขึ้นในรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร รวมทั้งตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ จะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวัฏจักรปัจจุบัน แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานสูงกว่าคาดก็ตาม
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5%
ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%