สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (3 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยพยุงราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นปิดในแดนบวก หลังจากที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากผลกระทบของดอลลาร์ที่แข็งค่า
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 41 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 89.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 21 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 90.92 ดอลลาร์/บาร์เรล
ในช่วงแรกนั้น ราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงแตะระดับ 87.76 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. และราคาน้ำมันเบรนท์ร่วงลงแตะระดับ 89.50 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้นแตะระดับ 107.0062 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเดือนส.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับ 9.61 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. และส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ย.
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้ตลาดวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันฟื้นตัวในเวลาต่อมา เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีมุมมองบวกต่อแนวโน้มอุปทานน้ำมันตึงตัวในตลาดโลก หลังจากซาอุดีอาระเบียขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้ และรัสเซียขยายเวลาปรับลดการส่งออกน้ำมันสู่ระดับ 300,000 บาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้
ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 4.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับลงเพียง 92,000 บาร์เรล
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ในวันนี้ เวลาประมาณ 21.30 น.ตามเวลาไทย
คณะกรรมการร่วมด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรี (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะจัดการประชุมในวันนี้ ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่าที่ประชุมจะมีมติคงนโยบายการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้โอเปกพลัสปรับลดกำลังการผลิตรวม 3.66 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2567