สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% ในวันพฤหัสบดี (5 ต.ค.) และเป็นการดิ่งลงติดต่อกันวันที่ 2 เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์เชื้อเพลิงที่ชะลอตัวลงในสหรัฐ
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 1.91 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 82.31 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2566
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.74 ดอลลาร์ หรือ 2.03% ปิดที่ 84.07 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566
ตลาดน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 6.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 บาร์เรล ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์เชื้อเพลิงที่อ่อนแอลงในสหรัฐ
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาทั้งในสหรัฐและยุโรปยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมัน โดยสำนักงานสถิติสหภาพยุโรป (Eurostat) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของยูโรโซนลดลง 2.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 1.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อสูงได้บั่นทอนการบริโภคในยูโรโซน
ขณะที่เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ลดลงสู่ระดับ 50.1 ในเดือนก.ย. ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 50.2 จากระดับ 50.5 ในเดือนส.ค. โดยดัชนี PMI ใกล้หลุดระดับ 50 ซึ่งหากต่ำกว่าระดับดังกล่าวจะบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคบริการของสหรัฐ
นางเฮลิมา ครอฟท์ หัวหน้านักวิเคราะห์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของ RBC Capital Markets คาดการณ์ว่า การดิ่งลงของราคาน้ำมันในขณะนี้อาจจะทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงราคาน้ำมัน
"ดิฉันคิดว่าโอเปกในขณะนี้แตกต่างจากโอเปกในปี 2558 ซึ่งถ้าเรายังคงเห็นราคาน้ำมันดิ่งลงต่อไปจนหลุด 80 ดอลลาร์ ดิฉันเชื่อว่าเราจะเห็นโอเปกออกแถลงการณ์เพื่อปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน" นางครอฟท์กล่าว