สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (9 พ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อหลังจากราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนักก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 41 เซนต์ หรือ 0.54% ปิดที่ 75.74 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 47 เซนต์ หรือ 0.59% ปิดที่ 80.01 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมัน WIT ฟื้นตัว ขณะที่ราคาน้ำมันเบรนท์กลับมายืนเหนือระดับ 80 ดอลลาร์อีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนักติดต่อกัน 2 วันทำการ อันเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันชะลอตัวลง และจากการที่นักลงทุนประเมินว่าสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ดี ตลาดน้ำมันได้รับแรงกดดันในช่วงท้ายของการซื้อขาย หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาซึ่งจัดโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อวานนี้ ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลว่าจีนซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลก จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.2% ในเดือนต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.1% และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 2.6% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัวหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแม้ว่ารัฐบาลจีนได้ประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จีนยังคงเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความเสี่ยงของปัญหาหนี้สิน และการที่จีนดำเนินนโยบายการเงินสวนทางกับประเทศตะวันตก