สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 70 ดอลลาร์ในวันพุธ (6 ธ.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าอุปสงค์เชื้อเพลิงในสหรัฐชะลอตัวลง
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 2.94 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 69.38 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 2.9 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 74.30 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนัก หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 4.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล
ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก หลังจากมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิสปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลจีนลงสู่เชิงลบ จากมีเสถียรภาพ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน
นักลงทุนจับตาการเดินทางเยือนตะวันออกกลางของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส โดยปธน.ปูตินเดินทางถึงกรุงอาบูดาบี เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เมื่อวานนี้ และได้เดินทางเยือนกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบียในวันเดียวกัน
ทำเนียบเครมลินระบุว่า เรื่องของพลังงานจะเป็นประเด็นหลักในการหารือระหว่างปธน.ปูตินกับผู้นำ UAE และซาอุดีอาระเบีย หลังจากที่กลุ่มโอเปกพลัสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการกำหนดโควตาการผลิตน้ำมันอย่างเป็นทางการสำหรับไตรมาสแรกของปี 2567 ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยจะให้เป็นการปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจของประเทศสมาชิกคิดเป็นจำนวน 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน
ทั้งนี้ มติดังกล่าวของโอเปกพลัสทำให้ตลาดไม่มั่นใจว่าสมาชิกโอเปกพลัสจะปรับลดกำลังการผลิตตามสัญญาหรือไม่ และจะมีการตรวจสอบอย่างไร