สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 2% ในวันศุกร์ (8 ธ.ค.) หลังจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐสนับสนุนการคาดการณ์เกี่ยวกับการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมัน
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. พุ่งขึ้น 1.89 ดอลลาร์ หรือ 2.73% ปิดที่ 71.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 1.79 ดอลลาร์ หรือ 2.42% ปิดที่ 75.84 ดอลลาร์/บาร์เรล
แต่ในรอบสัปดาห์นี้ ทั้งสัญญาน้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ต่างร่วงลง 3.8% หลังร่วงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนมิ.ย.เมื่อวันพฤหัสบดี (7 ธ.ค.) ซึ่งเป็นสัญญาที่บ่งชี้ว่า เทรดเดอร์จำนวนมากเชื่อว่าปริมาณน้ำมันอยู่ในภาวะล้นตลาด
ทั้งสัญญาน้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกันยาวนานที่สุดในรอบ 50 ปี ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันส่วนเกิน
ตลาดน้ำมันปรับตัวลงในรอบสัปดาห์นี้โดยถูกกดดันจากแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่อ่อนแอ หลังการเปิดเผยข้อมูลศุลกากรของจีนบ่งชี้ว่าการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือนพ.ย.ร่วงลง 9% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากสต็อกน้ำมันอยู่ในระดับสูง, ข้อมูลเศรษฐกิจอ่อนแอ และยอดสั่งซื้อจากโรงกลั่นอิสระชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม นายฟิล ฟลินน์ นักวิเคราะห์ของไพรซ์ ฟิวเจอร์ส กรุ๊ปกล่าวว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในวันศุกร์ (8 ธ.ค.) ซึ่งนับเป็นวันแรกในรอบ 6 วันนั้น อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ตลาดได้แตะแนวรับแล้วในขณะนี้ หลังจากปรับตัวลง 6 วันติดต่อกัน
การเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งซึ่งจะช่วยหนุนอุปสงค์น้ำมันในสหรัฐ
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ (8 ธ.ค.) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นจากระดับ 150,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.7% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9%
ตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 69.4 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. และเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 62.0 จากระดับ 61.3 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการที่ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกได้เรียกร้องเมื่อวันพฤหัสบดี (7 ธ.ค.) ให้สมาชิกโอเปกพลัสเข้าร่วมข้อตกลงลดการผลิต หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วโอเปกพลัสได้ตกลงที่จะลดกำลังการผลิตรวมกัน 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า อย่างไรก็ตาม ตลาดมีความกังวลว่า สมาชิกบางรายอาจไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา