สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (21 มิ.ย.) จากความวิตกว่า การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก อาจได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 56 เซนต์ หรือ 0.69% ปิดที่ 80.73 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 47 เซนต์ หรือ 0.55% ปิดที่ 85.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
แต่ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นราว 3% หลังจากเพิ่มขึ้นประมาณ 4% ในสัปดาห์ที่แล้ว
ราคาน้ำมันดิบลดลง แม้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์น้ำมันของสหรัฐปรับตัวดีขึ้น และสต็อกน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงซึ่งช่วยหนุนราคาน้ำมันดิบขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อวันพฤหัสบดี
ราคาที่ลดลงทำให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ออกจากภาวะที่มีแรงซื้อมากเกินไปทางเทคนิคเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วัน ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ยังคงมีแรงซื้อมากเกินไปเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอื่น ๆ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงอดกลั้นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งตรงกันข้ามกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากกว่าของธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ
เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกในปี 2565 และ 2566 เพื่อสกัดกั้นการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอการขยายตัว และลดความต้องการใช้น้ำมัน
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.2% สู่ระดับ 105.796
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอาจลดความต้องการน้ำมัน เนื่องจากทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ อาทิ น้ำมัน มีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่น ๆ
ในสหรัฐซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกนั้น กิจกรรมทางธุรกิจเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือนในเดือนมิ.ย.ท่ามกลางการจ้างงานที่ดีดตัวขึ้น แต่แรงกดดันด้านราคาลดลงอย่างมาก ซึ่งเพิ่มความหวังว่าการชะลอตัวของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมานั้นมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป